513 | Goodbye! Friday

Viva! Friday ฉบับที่ 28 ของปี 2015 เป็น Viva Friday ฉบับสุดท้ายที่จะตีพิมพ์ก่อนจะปิดตัวลง แม๊กกาซีนหลายเล่มของวิบูลย์กิจ ก็ทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ จากที่มีแม๊กกาซีนเกือบ 20 หัว ตอนนี้ก็ VBK เหลือเพียง KC.Weekly กับ KC. Trio สองเล่มเท่านั้น เล่มเดียวเท่านั้น และจากปากคำของ บก.ยูตะที่ให้สัมภาษณ์ใน Voice TV ก็พูดเป็นนัยว่าท้ายที่สุดแล้วแม๊กกาซีนทุกเล่มก็จะปิดตัวลง
E513-friday
ผมซื้อ Viva Friday ตั้งแต่เล่มแรกหน้าปกซันชิโร่x2 และซื้อเล่มสุดท้าย จริงๆตอนที่บากิภาคหลักจบผมก็เลิกซื้อไปหนนึง แต่สุดท้ายก็กลับมาซื้อใหม่เพราะว่าไม่มีอะไรจะซื้อ(!?) จนกระทั่งมาปีที่แล้วผมก็เลิกซื้ออีกหนตอนที่เจอร้านเช่าใกล้ๆมี Friday ให้เช่าอ่าน จนกระทั่งเล่มสุดท้ายวางขายผมก็ซื้อมาเป็นที่ระลึกก่อนจะจากกัน เอาเข้าจริงๆผมก็ไม่ได้ผูกพันอะไรกับ Friday มากนัก ถึงจะติดตามมาตลอด แต่ก็ไม่ได้ผูกพันกับตัวนิตยสารอะไรเท่าไหร่ อ่านเหมือนเป็นเรื่องปกติมากกว่า
จากเหตุการณ์ Viva Friday ปิดตัว ก็ทำให้หลายๆคน สำนักพิมพ์ หรือเซเลบบนเน็ทบางคนออกมาพูดเรื่องการอ่าน Scan บนเน็ท ส่วนมากจะแทงกั๊กและมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “กู/ผม/ฉัน อ่านแสกนอ่าน RAW แต่ก็ซื้อรวมเล่มด้วยถ้าถูกใจ” รายละเอียดแตกต่างกันไปตามจุดยืนของคนพูด มีแคมเปญอันนึงของ SIC ออกคล้ายกับโอดครวญว่า “จะยังซื้อหนังสือกันอยู่ใช่มั้ย” ในความคิดผมการทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดูน่าสมเพช และยิ่งตอกย้ำความเสื่อมถอยของวงการสิ่งพิมพ์ สำหรับผมนั้นไม่เคยติดตามอ่านแสกนการ์ตูนเรื่องอะไรต่อเนื่อง อ่านบ้างตามโอกาสแต่ไม่ถึงกับมานั่งรอตอนใหม่ออก จริงๆคืออ่านแสกนโดจินเป็นหลักนั่นแหละ เหอๆ…. เรื่องซื้อรวมเล่มที่ถูกใจหลังจากอ่านฟรีนั้นก็เป็นเรื่องปกติ แต่การที่ได้อ่านฟรีไปแล้วก็เป็นเหตุผลให้ไม่ซื้อด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าเหตุผลหลังจะมีมากกว่าเหตุผลแรกอย่างเห็นได้ชัด
กลับมาเรื่องวงการสิ่งพิมพ์การ์ตูน จากหลายๆสัญญาณเป็นที่ชัดเจนว่าทุกอย่างกำลังหดตัว คนอ่านไม่ยอมจ่ายเงินง่ายๆอีกต่อไป ค่านิยมเรื่องอ่านฟรีกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นเรื่อยๆ การ์ตูนเล่มจากเดิมที่เป็นสิ่งบริโภคถูกมองว่าเป็น “ของสะสม” แทน หลายๆคนชอบพูดว่า “ถ้าสำนักพิมพ์ทำออกมาดีก็ซื้อ” ซึ่งหล่อมาก แต่สำนักพิมพ์ไม่หล่อด้วย ยอดขายบอกชัดเจนว่าคนที่พูดแบบนี้แล้วทำจริงๆมันน้อยขนาดใหน ผมเอือมระอาทุกครั้งที่มีคนพยายามอ้างเหตุผลนี้ การที่ VBK ปิดแมกกาซีนลงแทบทุกเล่มและประกาศตรงๆว่ารวมเล่มถ้าขายได้น้อยจะแทบไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้คนจำนวนมากโกรธแค้นและออกมาด่า ผมเห็นว่า VBK อยู่ในภาวะ “ย่ำแย่อย่างที่สุด” และสิ่งที่เขาเลือกทำนั้นก็เป็นความกล้ำกลืนไม่น้อย
ตอนนี้สำนักพิมพ์ทุกแห่งก็กล้ำกลืนกันหมด (แต่ VBK ดูจะโดนด่าหนักเป็นพิเศษ) NED ปิด Boom และลอยแพหนังสือมากมาย บูรพัฒน์เกือบเจ๊งไปรอบ(แต่จากปัญหาภายใน) SIC ออกหนังสือน้อยลง แน่นอนว่าการบริหารของ VBK นั้นก็ไม่ได้เรื่องจริง แต่ปัญหามากกว่าครึ่งเกิดจากพฤติกรรมคนอ่านที่เปลี่ยน จึงไม่ใช่เรื่องถูกที่จะเอาแต่ด่าสำนักพิมพ์ต่างๆในขณะที่ตัวเองไม่ยอมให้เงินกระเด็นออกจากกระเป๋าเลย หลายๆสำนักพิมพ์พยายามหาทางออกด้วยการขายเป็น e-book เพราะต้นทุนควบคุมง่าย แต่ในสังคมที่ร้องหาแต่ของฟรี ยอดขาย e-book แต่ละเล่มก็เป็นเรื่องเศร้าเกินจะเปิดเผย แต่สำนักพิมพ์ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะอย่างน้อยที่สุด การขายแบบดิจิตอลก็ไม่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับเท่าแบบหนังสือ
ปัญหาสิ่งพิมพ์ถูกดิจิตอลกลืนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทย ทางออกที่ทุกฝ่ายพยายามทำชัดเจนว่าจะต้องผลักดันให้หนังสือเป็นดิจิตอล ไม่มีทางออกอะไรแปลกใหม่ พฤติกรรมคนอ่านเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เป็นไปตามความนิยมและสะดวก วิธีแก้คือทำยังไงให้คนอ่านพร้อมและเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากกว่า
ปล. จริงๆผมมี Viva! Friday เล่ม 1 ด้วยนะ แต่หาไม่เจอ ถ้าหาเจอจะเอามาถ่ายรูปใหม่ เกร็ดเสริมอีกอย่างคือปกของ Friday เล่มสุดท้ายจะเขียนว่า Goodbye! Friday แทน Viva! Friday คำว่า Viva! Friday (อ่านว่าฟีฟ่าฟรายเดย์) มาจากที่การเจรจาลิขสิทธิ์กับอาคิตะโชเต็นนั้นสำเร็จในวันศุกร์ และเป็นลิขสิทธิ์แรกของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (แต่ไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทย)

7 thoughts on “513 | Goodbye! Friday”

  1. ในที่สุดก็รู้ซะทีในวันทีปิดตัว หลังซื้อมาเกือบ 20 ปี (เริ่มซื้อช่วงบากิเริ่มลง)
    ว่าทำไมชื่อ Viva Friday แต่ดันออกวันจันทร์

  2. ทางรอดของสำนักพิมพ์น่าจะต้องปรับจากเดิมที่พิมพ์ขายจำนวนมากๆกับเอาเรื่องดังๆแนวตลาด
    ที่หาอ่าน Scan ง่ายๆมาขายกลายเป็นพวกหาเรื่องเฉพาะทางหรือแนวๆแปลกๆ niche หน่อยๆ
    แล้วก็พิมพ์ไม่มากกับเปิดร้านขายของสำนักพิมพ์เองแบบ Online ช่วยด้วยอีกทาง
    น่าจะพอประคองให้อยู่รอดไปได้ในยุคแบบนี้

    1. หมายความว่าให้ตีพิมพ์น้อยปกลงแล้วขายแต่เรื่องขายดีๆกับเรื่องเฉพาะกลุ่ม?
      แล้วมันต่างจากตอนนี้ยังไงครับ โดยเฉพาะคำว่า เรื่อง niche แล้วพิมพ์น้อยๆ
      แค่หาคำจำกัดความเรื่องไหนเป็น niche พอจะได้ตีพิมพ์ก็ตีกันตายแล้ว

      1. จริงๆที่ตอบมาก็คิดว่าใช่นะคือสำนักพิมพ์ต้องหาข้อมูลว่าเรื่องที่เอาเข้ามาน่าจะขายได้
        แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ดังมากก็ได้ ตรงนี้ถ้าเล่นแบบง่ายๆอาจจะใช้วิธีของ Dex ที่เปิดให้
        ลงขันโดยคนดูว่าอยากให้ซื้อ LC เรื่องไหนมาขาย หรือแบบค่าย LN ก็มีค่าย
        ที่พิมพ์ผู้กล้าโล่เหมือนมีแผนจะเอาโมเดลแบบนี้มาใช้เลือก LN เรื่องต่อไปที่จะมาแปลอยู่
        วิธีนี้ทำให้การันตีรับรู้รายได้ในระดับนึงว่าซื้อมาขายไม่เจ๊งหรือโอกาสเจ๊งน้อยลงหน่อย
        มันก็คล้ายๆระบบ Kickstarter จ่ายก่อนอ่านทีหลังแต่พิมพ์ชัวร์ แถมพิมพ์เกินจำนวน
        ปริมาณไม่มากขายกับคนทั่วไปด้วยก็ได้ ไม่แน่อนาคตอาจจะได้เห็นระบบแบบนี้ก็ได้

        1. ดูจากกิจกรรมลงขันของ DEX นี่ผมว่าเกิดยากนะ…. คนปกติก็ไม่อยากจ่ายเงิน
          อยู่แล้ว จะให้มาจ่ายก่อนโดยที่ยังไม่เห็นของนี่ยิ่งยาก แล้วก็เรื่องของอนาคต
          มันคาดเดาไม่ได้หรอก เรื่องนี้จะฮิตมั้ย เรื่องนี้จะออกต่อไปกี่เล่ม การที่ลดเรื่องพิมพ์
          ถ้าสำนักพิมพ์มีขนาดใหญ่ ออกปกน้อยๆก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
          Luckpim ที่พิมพ์ผู้กล้าโล่นี่ข้อเสียบานเบอะเลยนะ กว่าจะออกแต่ละเล่ม
          กว่าจะขายแต่ละปก ใหนจะเรื่องราคา
          อีกเหตุผลคือ Connection ของสำนักพิมพ์ค่ายญี่ปุ่นเขาไม่ได้ขายแยกครับ
          เขาขายเป็นเข่ง ได้มาคละๆ มีเรื่องดังเรื่องไม่ดังปนกัน

  3. แก้ไขข้อมูลให้นิดนึงครับ
    KC Trio บินไปก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี . . . .
    ผมนี่โดนเต็ม ๆ เลย … ปีที่แล้ว Boom ปีนี้โดนไป 2 Trio กับ Friday
    ยังเหลือ KC weekly ซึ่งคาดว่าคงเร็ว ๆ นี้อีกเล่มเดียว

    1. อ้าว…ไปก่อนแล้วเหรอ ขอบคุณทข้อมูลครับ
      ตอนนี้ผมไม่ได้ซื้อแมกกาซีนการ์ตูนอะไรเลยแล้ว
      เพราะมันเจ๊งไปหมด…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *