308 | Bakemonogatari (1)

หลังจากสะสมไอเดียจนหลงลืมไปไม่น้อย ในที่สุดถึงวาระดิถีอันเหมาะสมที่ผมจะเขียนถึงบาเกะโมโนกาตาริแล้ว แต่ด้วยความที่ว่าสะสมมากไปหน่อยจนล้นปรี่หกออกมาข้างนอก ซึมลงดินหายไปเยอะ ก็เลยขอแบ่งเป็นสองตอนเพื่อความชัดเจน(เกี่ยวไรวะ) ในตอนแรกนั้นจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของบาเกะโมโนกาตาริ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สถานการณ์แวดล้อม และวิเคราะห์เล็กน้อยตามประสา เนื้อหาในนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นเพียงความเห็นและมุมมองประสบการณ์ของคนเพียงคนเดียวเท่่านั้น

บาเกะโมโนกาตาริคืออะไร?
บาเกะโมโนกาตาริ(化物語)เป็นไลท์โนเวลของสำนักพิมพ์โคดันฉะ อยู่ในเซ็ทโคดันฉะบ๊อกส์(จะมีกล่อง แล้วก็แพงๆ)​ แต่งโดยนิชิโอะ อิชิน ภาพประกอบโดย Vofan เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภูติผึปีศาจและสาวๆรอบตัวเด็กหนุ่มคนนึง จริงๆบาเกะโมโนการตารินั้นมีบทเริ่มชื่อคิซึโมโนกาตาริ(傷物語 แม้จะเป็นบทเริ่มแต่วางขายทีหลังบาเกะโมโนกาตาริ) และยังมีภาคต่อชื่อนิเซโมโนกาตาริ(偽物語) และพอได้รับความนิยมมากมายจากอนิเม ก็เลยทำให้มีการขยายเรื่องยืดยาวออกหลายต่อหลายเล่ม สำหรับฉบับอนิเมนั้นได้หยิบเอาส่วนของบาเกะโมโนกาตาริมาทำ มีความยาว 15 ตอนจบ 12 ตอนฉาย TV และ 3 ตอนฉายทางเน็ท ตัวอนิเมชั่นนั้นสร้างโดยสตูดิโอชาฟท์ กำกับโดย ชินโบ อากิยูกิ และมีอนิเมชั่นคาแรกเตอร์ดีไซน์โดย วาตานาเบะ อากิโอะ จากไลท์โนเวลที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มรวมกับอนิเมชั่นสตูดิโอบ้าบอๆและฝีมือผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างความฉิบหาย กลับทำให้เกิดเป็นตำนานบทสำคัญแห่งโลกอนิเมขึ้นมาเมื่อบาเกะโมโนกาตาริได้รับความนิยมมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ซึสิมิยะฮารุฮิ(อนิเมเทพ lol)ซึ่งฉายพร้อมกันถูกเบียดตกกระป๋องแบบทาบไม่ติด

บาเกะโมโนกาตาริเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนึงที่ชื่อ อารารากิ โคโยมิ เขามักจะเข้าไปพัวกันกับเหตุการณ์ประหลาดเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณและคอยแก้ปัญหาให้กับสาวน้อยมากหน้าหลายตา ในเรื่องจะถูกแบ่งออกเป็น 5 บท แต่ละบทก็จะมีตัวเอกหญิงประจำตอนต่างกันไป ในบทแรกนั้นจะเป็นเรื่องราวของ เซนโจกาฮาระ ฮิตางิ (ปู) ซึ่งโดนขโมยน้ำหนักไปจนกลายเป็นคนที่แทบจะไม่มีน้ำหนักเลย บทสองเป็นของ ฮาจิคุจิ มาโยย (หอยทาก) เด็กประถมร่อนเร่ที่หาทางกลับบ้าน บทที่สามเป็นของ คัมบารุ สุรุกะ (ลิง) หญิงสาวผู้มีรสนิยมทางเพศผิดเพี้ยนและริษยาในความสัมพันธ์ของโคโยมิกับฮิตางิ บทที่สี่เป็นของ เซนโกกุ นาเดโกะ (งู) รุ่นน้องของโคโยมิที่แอบชอบโคโยมิอยู่ บทสุดท้ายเป็นของฮาเนคาว่า สึบาสะ(แมว) เพื่อนร่วมชั้นของโคโยมิที่มีความลับอัดอั้นจนเกิดแบล็คฮาเนคาว่าขึ้นมา

สิ่งที่ต้องพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความสำเร็จของบาเกะโมโนกาตาริ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่ามันแปลกยังไงหรือประสบความสำเร็จขนาดไหน ลองยกตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดคือ “ซึสึมิยะฮารุฮิโนะยุอุทสึ” ขอเรียกสั้นๆว่าฮารุฮิ สำหรับยุครุ่งเรื่องของฮารุฮินั้นไม่ว่ามองไปทางไหน ด้านไหน ก็มีแต่คนพูดถึงฮารุฮิ มีการเต้นระบำฮาเรฮาเรยูไค(เพลงปิด)กันทั่วบ้านทั่วเมือง ผลิตสินค้า ของเล่น การ์ตูน ออกมาขายมากมาย ถ้าใครที่สนใจอนิเมหน่อยเมื่อราว 4 ปีก่อนไม่มีทางที่จะไม่รู้จักฮารุฮิแน่นอน (แม้แต่ผมเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของ Viral Marketing ของฮารุฮิ) ถึงกระนั้นเลย ยอดขาย DVD ของฮารุฮินั้นอยู่ที่ราว 4 หมื่นแผ่น/แผ่น แต่บาเกะโมโนกาตารินั้นมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 8 หมื่นแผ่น มากกว่าฮารุฮิถึงเท่าตัว หรือมากกว่า Gundam 00 เกือบสามเท่า มากกว่า Code Geass สองเท่า อยู่ในระดับเดียวกับ Gundam Seed อนิเมกระแสหลักที่ใครๆก็รู้จัก (แต่มูลค่าทางการตลาดเป็นรองเยอะ)
ทำไมบาเกะโมโนถึงประสบความสำเร็จ? ผมเชื่อว่าเป็นคำถามที่แม้แต่ตัวผู้ผลิตผลงานอย่างชาฟท์์หรือผู้กำกับอย่างชินโบเองก็ตอบไม่ได้ ชาฟท์เป็นสตูดิโออนิเมชั่นขนาดกลาง แม้จะก่อตั้งมานานแต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายเป็นพิเศษ มีผลงานขายได้บ้างนิดหน่อย (เนกิมะ!?, ฮิดามาริเสก็ทช์) ขึ้นชื่อเรื่องทำงานพิลึกๆ (โซลเทคเกอร์, ef, ปานิโปนิ)โดยปกติอนิเมของชาฟท์นั้นยอดขายอยู่ที่ 4-6 พัน ยกเว้นเรื่องฮิทจริงๆ อาจจะถึง 8,000 สำหรับอนิเมอย่างบาเกะโมโนกาตาริที่ขายได้ถึง 80,000 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดชึ้นมาก่อนในชาฟท์ (ซึ่งแม้แต่ในสตูดิโอใหญ่ๆก็หาได้ยากยิ่ง) และเป็นอนิเมที่ฉีกตำราทุกเล่มทิ้งอย่างสิ้นเชิง ทั้งฉีกโดยตั้งใจและฉีกโดยความไม่รับผิดชอบ….
บาเกะโมโนกาตาริแทบไม่มีโฆษณาโปรโมทลงตามนิตยสารเลย ตลอดเวลา 7 เดือนก่อนฉายได้ลงนิวไทป์ 4 หน้าและสกู๊ปสัมภาษณ์นิดหน่อย ภาพโปรโมทก็มีเพียง 2-3 อัน ไม่มีการโหมโปรโมทสร้างกระแส(เทศกาล) รูปแบบการวางจำหน่ายก็มีการแบ่งขายแต่ละแผ่นเป็นของตัวเอกหญิงหนึ่งคน ซึ่งโดยปกติมาร์เก็ทติ้งไม่กล้าทำ เพราะว่ากลัวยอดขายแต่ละแผ่นจะแตกต่างกัน คนเลือกซื้อแต่แผ่นที่ชอบ หนำซ้ำพอฉายออกมาก็มีอาการขลุกขลักมากมาย ตั้งแต่ OP ไม่เสร็จ ED ไม่เสร็จ ตารางเวลาเละเทะ งานส่งไม่ทัน สตาฟลาออก สตูดิโอ Pastoral ที่จะช่วยทำก็มีปัญหาภายใน จนมาระเบิดเอาตอนสุดท้ายของบทของเซนโกกุ นาเดโกะ (งู) ที่ออกฉายแบบที่ทำไม่ทันโดยสื้นเชิง ช่วงท้ายตอนที่เป็นฉากสำคัญบทสสรุปของเรื่องเต็มไปด้วยภาพนิ่งและเฟรมซ้ำ ผู้ชมไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เต็มด้วยเสียงสาปแช่งและก่นด่า (ซึ่งน่าประหลาดใจมากที่เนื้องานในตอนทำไม่ทันแต่ OP ที่ใช้แค่ครั้งเดียวกลับทำออกได้อย่างยอดเยี่ยมโมเอ้ตายคาที่) แต่แล้วพอตอนสุดท้ายของฉบับ TV ฉายออกมา ผู้ชมก็แทบจะทรุดลงกราบ….เราจะมาอธิบายทีหลัง แต่ความฉิบหายยังไม่หมด เมื่อยังมีกำหนดการฉายพิศดารล้ำอย่างฉาย TV 12 ตอน ฉายทางเน็ท 3 ตอนคอยตามหลอกหลอน เวลาเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอให้ ชาฟท์ การฉายทางเน็ทเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และถึงกำหนดวันฉายแน่นอนแล้วก็ยังสร้างปรากฏการณ์ 40 โมง(!?) ตราบใดที่ยังไม่นอนก็ยังคงเป็นวันนี้ และวีรกรรมมากมายจนกินเวลานานถึง 6 เดือนกว่าจะฉายครบ 3 ตอน ซึ่งเทียบแล้วมากกว่าเวลาที่ฉายอนิเมปกติเกือบ 3 เท่าเลย กับอนิเมฉายทางเน็ทเพียง 3 ตอน
ในแง่ภาพและงานอนิเมชั่น คาแรกเตอร์ดีไซน์อย่างอากิโอะ วาตานาเบะ ก็เคยร่วมงานกับชินโบมาแล้วหลายครั้ง (Soul Taker, Yamamoto Yoko และเจ๊งทุกครั้ง) งานของอากิโอะนั้นค่อนข้างมีเอกลักษณ์และอยู่เหนือยุคสมัย แม้จะผ่านไปนานแต่สไตล์ก็ไม่เชย ด้านการกำกับก็มีความเป็นชินโบมาก มุมกล้องที่เป็นเอกลักษณ์ การใช้ cut สิ้นเปลืองและ superimpose สลับเร็วๆ สร้างความแปลกใหม่ให้กับงาน เมื่อผนวกกับการเล่นภาษาของนิชิโอะที่มักจะเล่นสนุกกับการเขียนตัวหนังสือและการหยิบโยงเรื่องราวต่างๆแบบสับสนเข้าด้วยกันแล้วกลับลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กระนั้นเลยตัวงานก็ “ชุ่ย” ขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนตอนที่ฉาย คุณภาพงานขึ้นลงสูงสุดได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั่งไประเบิดเอาตอนที่ 9 ของนาเดโกะอย่างที่กล่าวไว้ข้างบน
หลังจากตอนที่ 12 ฉายทาง TV จบไปก็ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างสูง จนช่วยเร่งยอดจองหน้าร้านเพิ่มขึ้นมาก พอ DVD+BD ของบาเกะโมโนกาตาริแผ่นแรกก็วางจำหน่าย และสร้างเหตุการณ์สะเทือนขวัญ(!?) ให้กับชาฟท์สตูดิโอเมื่อสินค้าที่ Shipping ไปถึง 50,000 ชุด ซึ่งมากกว่ายอดขายอนิเมทั่วไปของชาฟท์หลายเท่านั้นกลับหมดเกลี้ยง “ก่อน” วางขายจริง 1 วัน ทั้งที่เป็นวางจำหน่ายวันแรก แต่หน้าร้านเต็มไปด้วยป้ายบอกว่า “ของหมด” BD บาเกะโมโนกาตาริก็กลายเป็นของหายากไปทันที ยอดขายสัปดาห์แรกรวม BD และ DVD ของฮิตางิแครปน้ันมากถึง 45,000 ชุด มากกว่ากันดั้ม 00 หรือโค้ดเกียส ที่เป็นอนิเมกระแสหลักเสียอีก ถึงกับขึ้นแท่นสร้างสถิติ “อนิเมฉาย TV ที่ยอดขายสัปดาห์แรกสูงสุด” ไปเลย(และก็ถูกทำลายด้วยยอดขายแผ่นหลังของตัวเองไปเรื่อยๆ) ยอดขายเฉลี่ยของบาเกะโมโนในปัจจุบันในสาย TV Anime นั้นเป็นรองเพียง Gundam ภาคแรกและ Evangelion เท่านั้น (ไม่นับ OVA และ Movie) ทีมงาน Aniplex, Shaft หรือแม้แต่ผู้กำกับชินโบเองไม่มีใครกล้ายืดอกตอบคำถามถึงเหตุผลที่ “ทำให้มันขายดี” ได้ เวลามีสัมภาษณ์ลงนิตยสารทีไรสุดท้ายก็เป็นคำตอบในลักษณะที่ว่ากรูก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

ทำไมถึงประสบความสำเร็จ?
ผมเชื่อว่าโลกนี้สิ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดไม่ว่าจะในแง่ไหนๆ มันไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกในทุกๆด้าน ยกตัวอย่างแฮรี่พ๊อตเตอร์ขายได้เป็นสิบๆล้านเล่ม ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแฮรี่พ๊อตเตอร์เป็น “นิยายแฟนตาซี” ที่สนุกที่สุดในโลก เพียงแต่มีปัจจัยแวดล้อมจนได้รับความนิยมสูงสุด ภาพยนตร์เรื่อง AVATAR ทำเงินมากที่สุดในโลกแต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า AVATAR เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลกเช่นกัน Facebook เป็น Social Network ที่บูมที่สุดในเวลานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความ Facebook เป็น Social Network ที่ดีที่สุดตั้งแต่เริ่มแรก…อืมจริงๆ Facebook นี่แตกต่างนิดหน่อยนะในแง่รายละอียดนะ ช่างมันก่อน
การที่อะไรจะนิยมและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้นั้นมันจะมี “จังหวะ” หรือ “โมเมนตัม” ของมัน ซึ่งโมเมนตัมเนี่ยเราไม่สามารถควบคุมได้แบบ 100% แต่เราคาดเดาได้ หรืออาจจะควบคุมได้ระดับนึงถ้าเรามีเบี้ยในมือมากพอ สมมติคุณแต่งนิยาย 1 เรื่อง มันยอดเยี่ยมมาก สนุกกว่าทไวไลท์ในทุกๆด้านพระเอกหล่อเกย์กว่า แต่ถ้าสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ทำการตลาดห่วยๆมันก็ไม่มีทางดังเท่า หรือจังหวะที่วางจำหน่ายธีมของเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องอื่นในตลาดมันก็ไม่ดัง หรือความนิยมของแนวเรื่องในตลาดตอนนั้นหรือภาษาที่ใช้แต่งก็ส่งผลมากมายแล้ว การที่มันจะฮิทได้นั้นต้องมีจังหวะและปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน ยกตัวอย่าง Gundam SEED ที่ได้รับความนิยมในวงกว้างนั้นถือว่าตัวเองมีปัจจัยสนับสนุน (ชื่อของกันดั้ม) สามารถสร้างโมเมนตัมได้ด้วยตัวเองระดับนึง จากนั้นก็ต้องใช้จังหวะที่มีโมเมนตัมทำให้คนดูชื่นชอบกว่าเดิม (พล๊อทเรื่อง, ดีไซน์หุ่น) ก็ยิ่งกลายเป็นแรงส่งเพิ่มขึ้น หรืออย่างฮารุฮิ เริ่มต้นนั้นมีแรงส่งเพียงแค่ชื่อของเกียวอนิเท่านั้น ตัวนิยายเองก็ระดับทั่วไปค่อนไปทางดังนิดหน่อย แต่ด้วยความแปลกใหม่จึงสร้าง Viral Marketing สำเร็จขึ้นมาเป็นคลื่นใต้น้ำและหนุนส่งจนได้รับความนิยมมหาศาล
กลับมาที่บาเกะโมโนกาตาริกันมั่ง บาเกะโมโนนั้นแทบไม่มีแรงส่งโมเมนตัมในตัวเองเลย ชื่อของนิชิโอะในเวลานั้นก็แค่ระดับกลางๆ ชื่อของชาฟท์ก็ขายได้เฉพาะกลุ่ม ชื่อผู้กำกับชินโบนี่ยิ่งแล้วใหญ่…. แล้วมันเกิดอะไรขึ้นล่ะ? มันถึงขายได้มากมายมหาศาลขนาดนั้น ระหว่างที่ผมดูอนิเมเรื่องนี้ผมก็รู้สึกประทับใจและคิดว่ามันเจ๋ง แต่คิดว่ายอดขายไม่น่าจะหนี 15,000 ชุดไปได้ กลายเป็นว่าผมคิดผิดไปไกลสุดกู่เมื่อมันขายได้ถึง 80,000 ชุด ก็เลยลองนั่งไล่นับปัจจัยที่ทำให้บาเกะโมโนประสบความสำเร็จดูซะหน่อย

  • คุณภาพงานในระดับสูง
    แม้ว่าชาฟท์จะเป็นสตูดิโอขนาดกลางแต่ก็มีอนิเมเตอร์ฝีมือเยี่ยมมากมาย บาเกะโมโนกาตารินั้นมีคุณภาพงานอยู่ในระดับสูงมาก คอมโพสของภาพ การเคลื่อนไหวของตัวละคร ล้วนใช้เทคนิคที่แปลกใหม่และยอดเยี่ยม ที่สำคัญชาฟท์รู้ว่า “อะไรควร อะไรไม่ควร” ฉากที่ควรจะวาดให้ดีก็ทำได้ดีเสมอ (ฉากชุดชั้นใน? ฉากลวนลามนาเดโกะทางสายตา?) Openning 5 แบบที่แบ่งตามตัวเอกประจำบทก็ไม่ได้สักแต่ว่าทำๆให้ครบคน แต่ละอันก็ไม่สไตล์และรูปแบบของตัวเองอย่างดีแม้ว่าจะใช้เพียงครั้งเดียว เพลงก็เพราะ ตัวบทที่ดัดแปลงจากนิยายก็ทำได้ดี มีจังหวะการแบ่งตอน ลูกล่อลูกชนได้เหมาะสมมาก ไอเดียที่เพิ่มเป็น 15 ตอนอาจจะดูขลุกขลักแต่ก็ให้ผลออกลัพธ์ก็กลับมาดี ทุกอย่างล้วนลงตัวอย่างเหมาะสม…ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แน่นอน ทั้งนี้เราจะไม่รวมถึงเรื่องงานไม่เสร็จ หรือเผางานแต่อย่างไร ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

  • ความมีมิติของตัวละคร
    จุดนี้ต้องยกให้นิชิโอะ เป็นเรื่องบังคับไปแล้วที่อนิเมยุคหลังๆเน้นการขายตัวละครเป็นอย่างมาก การมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่รู้ทั้งรู้แต่การจะสื่อออกมาให้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง คาแรกเตอร์ในบาเกะโมโนนั้นทุกตัวมีคาแรกเตอร์ที่เด่นชัดมาก มีจุดยืนแน่นอนและมีการพัฒนาของตัวละครไปเรื่อยๆ คนดูสามารถจับต้องคาแรกเตอร์ของตัวละครได้ทันทีที่ชม การแบ่งตอนออกเป็นทีละตัวละครก็เป็นวิธีที่ดี ที่จะทำให้คนดูค่อยๆทำความรู้จักทีละคน ต่างจากการเทกระจาดลงมาพร้อมๆกันแล้วแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร (ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ Angel Beats!) แน่นอนว่าการแนะนำตัวละครทีละคนนั้นไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องในการนำเสนอ เพียงแต่บังเอิญว่าบาเกะโมโนนั้นทำได้ต่างหาก

  • ความรู้สึกที่แตกต่างจากอนิเมทั่วๆไป
    ภาพรวมของบาเกะโมโนกาตารินั้นให้ความรู้สึกแตกต่างจากอนิเมทั่วๆไป มันให้ความรู้สึกว่า “ไม่ใช่อนิเมสำหรับคนทั่วไป” อาจจะฟังดูน่าหมั่นไส้เล็กน้อย แต่ลึกๆแล้วผู้ชมจะรู้สึกว่าในภาพที่สื่อออกมาเท่ากัน บาเกะโมโนมีความ “ลึก” มากกว่าอนิเมทั่วๆไป ฉากง่ายๆอย่างเปิดกระโปรงเห็นกางเกงใน (ที่ไลท์โนเวลบรรยาย 4 หน้าเต็มๆถึงกางเกงในของฮาเนคาว่า) นั้นให้ความรู้สึกว่า “แตกต่าง” จากฉากเปิดกระโปรงของอนิเมเรื่องอื่นที่ร้องคิย๊ายย~! และต้องยกความดีความชอบให้ชาฟท์และชินโบะที่ใช้จังหวะเหมาะสมยิงอะไรเจ๋งๆเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็คชั่นที่ดีเดือดสุดโต่งเลือดหลากสี โอเพนนิ่งสุดโมเอ้ ฉากหื่นแบบไม่ต้องกำกวม และความประทับใจเป็นระยะๆ สิ่งเหล่านี้เข้าไปครองใจคนดูเฉพาะกลุ่มได้อย่างชะงักงนจนยอมรับในผลงาน ขณะเดียวกันยังรู้สึกว่าแตกต่างจากอนิเมเรื่องอื่นๆอย่่างเห็นได้ชัด คนดูมีจะมีความรู้สึกอยู่ลึกๆว่านี่เป็นอนิเมสำหรับเขาและเป็นอนิเมของเขาเท่านั้น ไม่ใช่อนิเมสำหรับทุกๆคน (ยกตัวอย่าง K-On! คืออนิเมสำหรับทุกๆคน)

  • ความดิบของชาฟท์
    สิ่งสำคัญที่เป็นตัวจับใจของคนดูกลุ่มนี้ก็คือความดิบของชาฟท์นั่นเอง ชาฟท์เป็นสตูดิโอที่ทำให้เราตระหนักว่า “ข้างหลังอนิเมที่กำลังดูนั้นมันยังมีอีกโลกนึงอยู่” โลกที่มีปุถุชนคนธรรมดากำลังทำงานสนองตัณหาตัวเป็นเกลียว โดยปกติแล้วคนส่วนมากจะไม่สนใจหรอกว่าอนิเมเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำโดยใครหรือนั่งจดจำชื่อของผู้กำกับ, อนิเมเตอร์, คนเขียนบท, ทีมงานแต่ละคน หรือแม้แต่ชื่อคนแต่งหรือสตูดิโอยังจำกันไม่ค่อยได้เลย แต่พอหลังจากบาเกะโมโนฉายและตรึงให้คนกลุ่มนึงหันมาสนใจ ทันใดนั้นเองชาฟท์ก็แสดงตัวตนออกมาอย่างไม่ตั้งใจ(ฮา) ด้วยการทำอนิเมที่ให้ความรู้สึกว่า “ทำเพื่อสนองตัณหาของตนเอง ไม่ได้สนองตอบความต้องการของผู้ชม” หลุดออกจากระบบของการทำงานและกระแสความนิยม พวกเขาอยากวาดอะไรเขาก็วาด พวกเขาทำไม่ทันก็ฉายทั้งที่ทำไม่ทัน(และก็อาจจะมีคนตาย) พอติดตามไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าสตูดิโอพวกเขามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น ผู้ชมเริ่มเข้าใจว่าข้างหลังอนิเมที่เรากำลังดูนั้นมีคนกลุ่มนึงกำลังโหมทำงานอย่างทุ่มเทจนแทบจะอาเจียนเป็นเลือด และพวกเขาก็เป็น “คนจริงๆ” ที่มีผิดพลาดได้เฉกเช่นเราท่าน เหล่าคนดูจากที่เริ่มสนใจตัวอนิเม ก็เริ่มสนใจกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น และรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับอนิเมเรื่องนี้มีชีวิต มีตัวตนที่จะต้องติดตามเอาใจช่วย รู้สึกว่าเป็น “อนิเมของเรา” ที่ต้องคอยสนับสนุนและเป็นห่วงถึงอนาคตอันลุ่มๆดอนๆ….

  • กระแสเบื่อโมเอ้
    อีกประเด็นนึงซึ่งเป็นเรื่องไม่สำคัญนัก แต่ก็ไม่ควรข้ามคือกระแสเบื่อ ช่วงเวลาที่บาเกะโมโนฉายนั้นตลาดหลักล้วนเต็มไปด้วยอนิเมแนวโมเอ้ ขายเซอร์วิสวับๆแวมๆ และตัวละครน่ารักๆ บาเกะโมโนเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็เป็นอนิเมขายโมเอ้ แต่ความรู้สึกที่ได้มันต่างกัน อนิเมในกระแสหลักนั้นเราจะรู้สึกเหมือนนั่งอยู่แล้วมีคนเดินมาถอดเสื้อผ้าเปิดกางเกงในให้ดู แต่บาเกะโมโนจะได้ความรู้สึกที่ว่าเราเดินของเราอยู่แล้วมองเข้าไปในบ้านคนอื่นแล้วบังเอิญเจอคนเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่ ความรู้สึกของคนที่โดนป้อนอาหารกับคนที่แอบกินอาหารสร้างความตื่นเต้นเร้าใจที่ต่างกัน

  • การล่มสลายของ Endless Eight
    ในช่วงเวลาที่บาเกะโมโนฉายนั้นเป็นซีซั่นเดียวกับภาคต่อ(หรือภาคสมบูรณ์อะไรก็แล้วแต่จะเรียกกัน) ของซึสึมิยะ ฮารุฮิ อนิเมที่สร้างกระแสในวงกว้างและถูกจับตามอง แต่แล้วทั้งๆที่ประสบความสำเร็จขนาดนั้นฮารุฮิกลับหายไปถึง 4 ปีกว่าถึงจะมีภาคต่ออกมา ยิ่งทำให้ทุกสื่อกระแสจับตามองและเก็งว่าจะเป็นแชมป์ประจำซีซั่นแบบนอนมา แต่ด้วยเดชะบุญการตลาดอันยอดเยี่ยมด้วยการทำอนิเมซ้ำ 8 ตอน ทำให้คนดูที่เฝ้ารอเริ่มเบื่อและมองหาอะไรอย่างอื่นดูแบบไม่ตั้งใจ….และบังเอิญบาเกะโมโนก็อยู่ตรงนั้นพอดี

  • การเริ่มต้นของตลาด Blu-ray Disc
    ในช่วงที่บาเกะโมโนวางตลาดแผ่นแรกนั้น ช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตลาด Blu-ray Disc เป็นจังหวะเปลี่ยน Media จาก DVD เป็น BD ผู้ชมเริ่มเปลี่ยนจาก SD เป็น HD แต่ยังไงก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ดีในเวลานั้น ระบบทีวีเองก็เริ่มเป็นดิจิตอลทั้งประเทศจนคนส่วนมากเริ่มคุ้นเคยกับ High Definition มากขึ้น Media ประเภท HD อย่าง Blu-ray Disc ที่กำชัยชนะของสงคราม Media กำลังพยายามเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัว(ด้วยการวางจำหน่ายของ PS3 Slim) ในเมื่อมีตัวเลือกชัดเจนแล้ว ผู้ชมเริ่มลังเลที่จะซื้อ Media ประเภทเก่าและอยากลองรับชมวิดีโอคุณภาพสูงดู แล้วบังเอิญบาเกะโมโนก็อยู่ส่องสว่างอยู่ตรงนั้นพอดี…

  • ความรู้สึกคุ้มค่าในแผ่น
    เมื่อได้แรงหนุนจากข้อก่อนๆที่ทำคนเริ่มหันมาจับตามองและมีแนวโน้มที่จะซื้อ ตัวช่วยสำคัญขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินใจก็คือความคุ้มค่าของแผ่น รู้กันว่าบาเกะโมโนกาตารินั้นขายแยกเป็นนางเอก 1 คนต่อ 1 แผ่น ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเราสามารถซื้อแต่แผ่นที่ตัวเองชอบได้ เราเป็นฝ่ายที่อยู่เหนือกว่าและเป็นฝ่ายเลือก (แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกตอนมันต่อกัน สุดท้ายก็ต้องซื้อทั้งหมด ฮา) อย่างแรกก็คือคุณภาพระดับ HD1080 ที่ไร้ที่ติด ภาพคมกริ๊กไม่อัพสเกล ให้ความรู้สึกสมเป็น Media แห่งอนาคต ตัวแผ่นนั้นจะแถม Single เพลงเปิดของนางเอกในแผ่นมาด้วย ซึ่งหมายว่าไม่มีการขาย Character Song แยก ทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า BD ทั่วๆไปๆไม่มีพันธะรายจ่ายเพิ่มเติม และที่สำคัญที่สุดก็คือ “การปรับปรุงผลงาน” หรือเรียกง่ายๆก็คือการแก้จุดที่เผานั่นเอง บาเกะโมโนแผ่นแรกที่วางจำหน่ายนั้นตัวงานใน TV ก็ไม่ได้มีข้อผิดพลาดมากมายนัก แต่ก็ยังอุตส่าห์มีการแก้ไขมากมายมหาศาล บางฉากก็ดีอยู่แล้วยังแก้เข้าไปอีก จนรู้สึกได้ถึงความปราณีตและใส่ใจ(จริงเหรอ? หรือว่าแค่บ้า?) จนรู้สึกว่า “น่าซื้อ” ยิ่งขึ้น เพราะจะได้รับชมผลงานที่สมบูรณ์แบบกว่าที่ชมทาง TV ซึ่งการแก้ไขจุดที่บกพร่องก่อนจะวางขายนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างไรในวงการ พักหลังถึงขั้นกั๊กของดีไว้ใส่ในแผ่นเลยด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริษัทและนโยบาย แต่สำหรับชาฟท์นั้นแก้ไขกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ฮิดามาริสเก็ทนั้นเคยถึงกับวาด OP เดิมใหม่ทั้งหมดเพื่อใส่ในแผ่น หรือตำนานฟุจิยามะอันลือลั่น…(วาดแบ็คกราวด์ห้องอาบน้ำเป็นตัวหนังสือเขียนว่าฟุจิยามะ(ภูเขาฟุจิ)แล้วค่อยไปวาดภูเขาฟุจิจริงๆในแผ่น DVD) ไม่ได้เพิ่งจะมาแก้เยอะๆเอาในบาเกโมโนกาตาริเป็นครั้งแรก แต่กระนั้นก็ตาม ความใส่ใจในผลงานอย่างเห็นได้ชัด ก็ได้ใจกลุ่มผู้ติดตามมากมายจริงๆ

จากข้างบนหลายต่อหลายข้อเป็นเชนคอมโบ ทำให้บาเกะโมโนกาตาริประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด จากความโด่งดังของอนิเม ส่งผลให้ยอดขายไลท์โนเวลเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งๆที่เป็นนิยายเก่า กลับทำยอดเบียดแซงนิยายใหม่ๆไปอยู่อันดับต้นๆอย่างสบาย ข้อมูลจากโอริคอนชาร์ทที่เพิ่งหันมาเริ่มเก็บยอดขายไลท์โนเวล ยอดขายนิยายบาเกะโมโนกาตาริตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 590,000 เล่ม จากความสำเร็จมหาศาลของอนิเม ก็แทบจะฟันธงทันทีได้ว่า Kizumonogatari นั้นจะต้องถูกทำเป็นอนิเมแน่นอน(และก็ประกาศแล้วเช่นกัน) วัดจากเนื่้อหาในเล่มแล้วมีการคาดเดาว่าไม่น่าจะเป็น TV Series แต่จะเป็น Movie หรือ OVA แทน และนอกจากนี้ยังมีนิเซโมโนกาตาริ ภาคต่อที่มีน้องสาวของโคโยมิทั้งสองคนเป็นตัวเอก (แต่ก็มีตัวละครเก่าๆโผล่มาเช่นกัน) ที่รอคิวอยู่ แต่ยังไม่พอ…โคดันฉะประกาศภาคต่อครบทุกคนทุกภาคเรียบร้อยแล้ว คลาสเชนจ์กันถ้วนหน้า ซึ่งนิชิโอะนั้นได้ชื่อเรื่องการปั๊มนิยายราวกับเครื่องจักรอยู่แล้ว (เขียนคาตานะกาตาริ 12 เล่ม ใน 1 ปี ออกรายเดือน) ก็ต้องคอยดูอนาคตกันต่อไปว่าไลน์บาเกะโมโนกาตาริจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

สำหรับตอนแรกก็จบลงเพียงเท่านี้ ในตอนที่ 2 ของบาเกโมโนกาตาริจะเน้นไปที่ความเห็นส่วนตัวและความรู้สึกต่อเนื้อเรื่องและตัวละครแทน อาจจะมีเนื้อหานามธรรมจับต้องยากหน่อย ก็คอยติดตามกันให้ดี (ว่ามันจะเขียนเสร็จเมื่อไหร่)….

5 thoughts on “308 | Bakemonogatari (1)”

  1. ไม่เคยดูสักตอน แต่อ่านเพลินดี
    เดี๋ยวจะไปหาตอนลิงมาดู ฮ่าฮ่าฮ่า

  2. สำหรับผม ชุดว่ายน้ำนักเรียนอย่างเดียวครับ
    (ซื้อมาเฉพาะตอนนั้นแผ่นเดียวด้วย)
    เนื้อเรื่องอะไร ขายได้เท่าไหร่ ตัวละครที่ใส่ชื่ออะไรไม่เคยสนใจเลย……

    1. แผ่นนาเดโกะเป็นแผ่นที่ขายดีที่สุดครับ
      คนอย่างคุณคานันนั้น…ช่างมีมากมายทั่วแผ่นดิน

  3. ยอดขายมันเพิ่มขึ้นทุกแผ่นอะ แบบว่า ตอนแรกแฟนกลุ่มนึง ปากต่อปาก ได้มาเพิ่มเรื่อยๆ
    ส่วนตัว ชอบ สาวปู โดนดี แต่ทุกตอนแบบว่าไม่มีเบื่อเลยคับ ลองหามาดูกัน

  4. ชอบบทความที่เขียนมากเลยครับ ส่วนตัวพึ่งดู bakemonogatari second season จบ กลายเป็นแฟนเรื่องนี้ไปซะแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *