698 | Where We Belong

Where We Belong
ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า (2019)

ก่อนหน้านี้เคยตั้งใจว่าจะเขียนถึง Girl don’t Cry แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เขียนถึง และก็ไม่ได้ดูในโรง ไปดูเอาตอนลง Channel แล้ว รู้สึกผิด(เล็กน้อย) คราวนี้พอไปดูหนังมาก็เลยเขียนหน่อย

เหมือนเดิมคือรู้จัก BNK แค่ภายนอกกับเคยดูใน Girl don’t Cry ไม่เคยฟังเพลง ไม่เคยตามในฐานะไอดอล รู้จักแบบจำหน้าได้ประมาณ 6-7 คน แต่ก็รู้จักมิวสิคกับเจนนิสนะ (ว่าแต่เจนนิสเขียนไงวะ เหมือนจะต้องเขียนเจนนิษฐ์ แต่เขียนยาก ขอเขียนเจนนิสละกัน…)

สปอยนะ

หน้าหนังตอนโปรโมท โดยเฉพาะในเทรลเลอร์จะเหมือนว่าขายยูริ ซึ่ง…หลอกลวง คู่ชิพ ชื่อหนัง บทพูด หลอกลวงมาก ดีนะว่าไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เกือบไม่ดูเพราะคิดว่าเป็นหนังเลสเบียนแล้ว แต่มีแฟนBNKขั้นฮาร์ดคอร์คนนึงบอกว่าหนังดีให้ไปดู

คำพูดที่ได้ยินบ่อยที่สุดก่อนดูก็คือ เป็นหนังของคงเดช สารภาพว่าไม่ได้รู้จักคงเดชมากมายอะไรนัก และไม่เคยดูหนังของคงเดชมาก่อน ไปดูโดยไม่มีความคาดหวังอะไรนอกจากว่า สัดเอ้ย แยกลำสาลีแม่งรถติดฉิบหาย อย่าให้กูเสียดายเงินนะ

หนังเป็นเรื่องของสก๊อยเมืองจันท์สองคนกับเพื่อนๆ อีกนิดหน่อย ซู(เจนนิส)ตัวเอก รู้สึกว่าชีวิตกูไม่มีความหมายสำหรับที่นี่ ที่นี่ไม่มีที่อยู่ของฉัน ไม่อยากอยู่ที่นี่ พอสอบได้ทุนไปฟินแลนด์ก็เลยจะไปฟินแลนด์ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักฟินแลนด์เลย เหตุผลหลักก็คือ “ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ที่นี่”

จากนั้นก็จะเป็นรายละเอียดชีวิตของซูและผองเพื่อนสก๊อยส์ ดรามาเพื่อน ผู้ชาย ครอบครัว ชีวิตวนไป ถ้ามองจากมุมคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับวัยรุ่นแล้วมันเป็นทั้งชีวิต มันเป็นสภาพเหี้ยๆ ที่ซูอยากหนีไป เบล(มิวสิค)เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดตอนนี้ เบลให้ความสำคัญกับซูมาก แต่ก็เป็นแค่เพื่อน ไม่สามารถเป็นความหมายในการอยู่ที่นี่ให้ซูได้

ซูก็ค่อยๆ เคลียร์ทุกอย่างที่ค้างคาก่อนไปโดยมีเบลคอยช่วย แต่สุดท้ายหนังก็ตอกย้ำว่าชีวิตมึงเป็นชีวิตเหี้ยๆ ไม่มีทางทำให้ดีขึ้นได้ และมึงก็หนีไปไม่ได้ด้วยเหมือนกัน

รายละเอียดในหนัง ถ้าสนใจให้ไปดูเองดีกว่า แต่ถ้าคิดว่าไม่ชอบอะไรอึนๆ ทำใจโดนทำร้ายด้วยความจริงไม่ได้ ไม่แนะนำให้ไปดู เพราะค่อนข้างหนัก หนังไม่มีความบันเทิง BNK ไม่ช่วยให้บันเทิง แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดี หนังเสนอภาพที่ปกติทุกคนได้เจอ เจอจนเบื่อ เจอจนหน่าย อึดอัด แต่ก็เป็นความจริง ไม่ฟูมฟาย ไม่ฟุ้งเฟ้อ

ผู้กำกับบอกว่า คอนเซ็ปของหนังคือคำถามว่า ตัวของเรานั้นจริงๆ แล้วเป็นของเราแค่ไหน สารในหนังจะสะท้อนจากประสบการณ์ตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังออกมาเป็นสิ่งที่เราเข้าใจ แต่ละคนก็อาจจะได้ที่นั่งต่างกันไป แต่ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเข้าใจคำถามนั้น เพราะค่อนข้างมั่นใจในสิทธิ์การใช้ชีวิตของตัวเอง

ภาพสะท้อนของประสบการณ์นั้น จริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติของการดูหนัง แต่ในเรื่องนี้จะมีช่องว่างเป็นพิเศษ ชัดเป็นพิเศษ (แต่ก็ไม่ได้ว่างเป็นทุ่งแบบหนังอภิชาติพงศ์) ส่วนตัวสิ่งที่ติดอยู่ในหัวที่สุดคือสภาพความสัมพันธุ์ของซูกับเบล ฉันรักเธอ เธอรักฉัน แต่เราก็เป็นกันได้เท่านี้ ไม่มีใครแทนใครได้

มิวสิคน่ารัก…. เกือบโดนตกแล้ว ใจร่มๆ ไว้… เจนนิสก็เล่นดี โดยเฉพาะฉากทำตาหลุกหลิกสมจริงมาก(หัวเราะ) เนื่องจากในหนัง ทั้งสองคนเป็นสก๊อยส์ เราจึงได้เห็นขาอ่อนน้องๆ ทั้งเรื่อง

อร… พร้อมตบมาก ตรงตามตัวอักษร ออกมาทางหูตาจมูกปากหมด บางคนที่ดูอาจจะคิดว่าอรเป็นตัวร้าย เป็นฝ่ายผิด แต่ส่วนตัวคิดว่าอร(ในเรื่อง)มีสิทธิ์ที่จะโกรธ มีสิทธิ์ที่จะเกลียด มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัย แม้จะไม่รู้เหตุผลก็ตาม

ชื่อหนัง “ที่ตรงนั้นมีฉันอยู่หรือเปล่า” ก็หลอก จริงๆ ประโยคนี้เป็นคำถามของซู ไม่ใช่คำรำพันของเบล ตอนที่ดูไม่ชอบฉากคนทรงมาก คิดในใจว่าถ้ามึงให้ไอ้นี่เป็นคีย์ของการปิดเรื่องกูจะเสียดายเวลามาก แต่กลายเป็นว่าโดนถีบยอดอกอีกรอบ…. (ตอนดูไม่รู้จักคงเดช ถ้ารู้จักคงจะไม่คิดแบบนั้น)

ตอนจบ…นอกจากคำตอบแล้วชีวิตยังไม่มีทางออกอีกด้วย ใครที่คิดว่าสภาพจิตใจไม่พร้อม ไม่สมควรดู เดี๋ยวอินแล้วจะลำบาก ชอบหนังนะ ได้คิดอะไรเยอะดี ออกจากลานจอดรถเดอะมอลบางกะปิตอน 3 ทุ่ม ติดอยู่ชั่วโมงนึง มีอะไรให้คิดตลอด…(หัวเราะทั้งน้ำตา)

ปล. มีบ้านอยู่ท่าใหม่ ซึ่งเป็นโลเคชั่นในเรื่อง หลายๆ ฉากจะคุ้นมาก.

-เพิ่มเติม-

หลังจากดูเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าหนังมีเอกลักษณ์ดี เลยไปหาอ่านบทสัมภาษณ์ของคงเดชเพิ่ม ก็ทำให้รู้ว่าที่หลายๆ คนมองเรื่องนี้ในมุมมองของการเมือง เพราะหนังของคงเดชจะบันทึกเรื่องราวของการเมืองไว้เสมอ ส่วนตัวแล้วไม่ได้คิดถึงมุมมองนั้นเลย การดูหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้จัก nature ของคงเดชก็อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ เพราะจะได้โฟกัสไปที่ตัวละครอย่างเดียว

เลยไปหาหนังเก่าๆ ของคงเดชดูเรื่องนึง เลือกเรื่อง Snap ขอแค่ได้คิดถึง มาดู ก็พบว่าสอดแทรกการเมืองไว้เต็มๆ ไม่สิ เรียกว่าเป็นองค์ประกอบเลยก็ว่าได้… และที่ค้นพบอีกอย่างก็คือ คงเดชนั้น…เฟติชขาอ่อน…

จากที่ไปอ่านความเห็นตามที่ต่างๆ นอกจากมุมมองเรื่องการเมืองแล้ว มีคนที่มองในมุมของคนเป็นซึมเศร้าด้วย เขาจะมองว่า “การไปฟินแลนด์” = “การฆ่าตัวตาย” หลายๆ คำพูดและการกระทำในหนังก็มองแบบนั้นได้ลงตัวพอดีอีก… คุยกะเพื่อนที่เคยเป็นซึมเศร้า แค่เล่าเรื่องย่อให้ฟังก็บอกกุไม่ดูแล้ว เดี๋ยวอินแล้วของขึ้นจะหมดค่ายาอีก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *