488 | ห้องครัว

ปีใหม่ที่ผ่านมาได้ทำตัวเป็นคนปกติกับเค้ามั่งด้วยการไปบ้านที่ต่างจังหวัด ซึ่งปกติก็ไม่ได้มีใครอยู่หรอกที่บ้านนี้ แม่ขนหนังสือมาเก็บไว้แล้วนานๆมาทีเฉยๆ ท้าวความก่อนว่าสักหลายปีแล้วตอนที่ได้อ่านงานของ โยชิโมโตะ บานานะ เป็นครั้งแรกนั้นก็ได้ยินคำร่ำลือว่าหนังสือเรื่องคิทเชนของเจ๊แกเขียนดี ห้ามพลาด เป็นหนังสือจากปลายปากกานักเขียนรุ่นใหม่ที่อบอุ่นและให้ความรู้สึกเหมือนดื่มนมอุ่นๆตอนเช้า ซึ่งผมก็ไปหาตามงานหนังสือหรือคุ้ยตามร้านหนังสือเก่า(ที่ไม่มีผู้จัดการร้านเป็นสาวแว่นทรงโต) ก็ไม่เคยเจอเลย (แต่ก็ได้เรื่องอื่นมาเยอะ) พอหาไม่ได้ก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก
E487-kitchen
แล้วบ้านที่ต่างจังหวัดนี่ก็มีคนโน้นคนนี้ขนหนังสือมาเก็บไว้มากมาย ระหว่างอยู่ก็เลยเดินคุ้ยโน่นคุ้ยนี่ไปเจอกองหนังสือแปลญี่ปุ่นเล็กๆ แล้วก็บังเอิญเจอไอ้เจ้าคิทเช่นนี่ในที่สุด หาซะตั้งนาน สุดท้ายมากองอยู่ที่บ้านตัวเอง…. ก็เลยนอนอ่านจบอย่างรวดเร็ว สรุปเนื้อเรื่องคร่าวๆคือเรื่องราวของเด็กสาวคนนึงที่เฟติชห้องครัว จะรู้สึกอบอุ่นเวลาอยู่ในห้องครัว เด็กสาวคนนี้อยู่กับยายคนเดียวไม่มีญาติคนอื่นอีกเลย แล้วยายก็มาตายก็เลยต้องอยู่คนเดียว ระหว่างที่กำลังเหงาๆ ก็มีชายคนนึงโผล่มาบอกว่าเขารู้จักกับยาย อยากให้ไปอยู่ด้วยกันกับแม่ของเขา เป็นครอบครัวเดียวกัน ห้องครัวที่บ้านของชายคนนั้นก็ใหญ่และสวยมาก ตอนแรกก็อึ้งๆแต่สุดท้ายก็ไปอยู่ด้วยแล้วก็สนิทกันกับทั้งเขาและแม่ของเขา (แม่ของเขาจริงๆเป็นพ่อที่เป็นกะเทย)
ครึ่งหลัง แม่ของพระเอกจู่ๆก็โดนฆ่าจากสตอลก์เกอร์ที่บาร์เกย์ พระเอกก็เศร้า นางเอกพอรู้ปุ๊บก็เลยมาหา ทีนี้ทั้งสองคนก็เลยต่างฝ่ายต่างไม่มีญาติเหลืออยู่ในโลก แต่ก็ไม่อยากพัฒนาความสัมพันธุ์กัน พระเอกจะชวนนางเอกไปเที่ยว แต่นางเอกปัดเพราะต้องไปทำงานที่(จังหวัดอะไรวะ) พระเอกก็ไปคนเดียว ระหว่างที่นางเอกไปทำงานแล้วไม่ได้กินอะไร ตกกลางคืนเลยไปหาข้าวหน้าหมูทอดกิน แล้วคิดถึงคิดถึงพระเอก เลยโทรไปหาที่พักที่พระเอกอยู่ (ในเรื่องไม่มีโทรศัพท์มือถือ โทรด้วยเครื่องสาธารณะ) คุยกันสามประโยคก็เกิดบรรลุว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยหิ้วทงคัตสึขึ้นแท๊กซี่ไปหาพระเอกที่บ้านพัก(ไกลมากๆ) ปีนหลังคาเอาทงคัตสึให้แล้วก็กลับ แล้วพระเอกนางเอกก็เหมือนจะตัดสินใจก้าวไปข้างหน้าได้
เล่าสั้นๆแล้วก็ตลกๆเนอะ แต่ก็เขียนดี เรียบง่ายและอบอุ่นเหงาๆอย่างที่หลายคนชม ค่อนข้างชอบ แต่ก็ยังชอบสึกุมิมากกว่า สึกุมิมันมีอารมณ์รุนแรงที่ห้ามไม่ได้แฝงอยู่ด้วย (ไอ้นี่ก็มีนี่หว่า แต่มันคนละแบบกัน…. สึกุมิมันรู้สึกว่าอันตราย) ที่ขัดใจที่สุดคือสำนวนการแปล ก็เข้าใจว่าเป็นงานแปลกว่า 10 ปีมาแล้ว แต่กระนั้นผมก็จะตีราคางานแปลที่แปลซ้อนมาจากอีกภาษาว่าเป็นงานเกรด B อยู่ดี (เรื่องคิทเช่นแปลจากภาษาอังกฤษ) ยิ่งหลังจากนั้นได้อ่านเรื่องโจรข้างบ้านที่แปลตรงจากภาษาญี่ปุ่นก็ยิ่งสัมผัสได้ว่าการแปลซ้อนสองภาษาทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปขนาดไหน
สรุปว่าในที่สุดก็ได้อ่านแล้ว เรื่องที่คาใจก่อนตายก็ลดไปอีกเรื่อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *