561 | Kokoro

จากที่ไปบ้านที่จันทร์เมื่อต้นปีแล้วได้หยิบนิยายติดมือกลับมาสองสามเล่ม หนึ่งในนั้นคือ โคโคโระ ของ โซเซกิ นัตสึเมะ ก็ไล่เคลียร์อ่านไปเรื่อยๆ ตั้งหนังสือค้างคาก็เตี้ยลง เตี้ยลง จนตอนนี้สูงไม่ถึงหนึ่งคืบแล้ว และในที่สุดก็วนมาถึงเล่มนี้….
โคโคโระ (โซเซกื นัตสึเมะ) แบ่งออกเป็นสามบท บทแรกเป็นเรื่องราวของ “ข้าพเจ้า” ที่ได้ไปรู้จัก เซ็นเซย์ (อาจารย์) และเกิดความประทับใจ ค่อยๆ สนิทสนมกันมากขึ้น ไปหามาหาสู่แล้วได้รู้จักกับภรรยาของเซ็นเซย์ ตัวเซนเซย์ดูจะมีปมอะไรบางอย่างที่ทำให้ดูหม่นหมองอยู่ตลอดเวลา พ่อของ “ข้าพเจ้า” เริ่มป่วยจนต้องกลับไปเยี่ยม แต่ก็ยังพอจะแข็งแรงอยู่ แต่พอหลังจาก “ข้าพเจ้า” เรียนจบก็กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดจนต้องห่างไกลจากเซ็นเซย์
บทที่สองเป็นเรื่องราวของครอบครัวของ “ข้าพเจ้า” พ่อของ “ข้าพเจ้า” ค่อยๆ อ่อนแอลงจากอาการป่วย แม่ก็พยายามเซ้าซี้ให้หางานทำเป็นหลักเป็นฐาน แต่ “ข้าพเจ้า” ก็ยังบ่ายเบี่ยง ในที่สุด “ข้าพเจ้า” ก็ทนการรบเร้าไม่ไหวจนต้องเขียนจดหมายไปหา “เซ็นเซย์ ให้ช่วยแนะนำงาน พ่อของ “ข้าพเจ้า” อาการแย่ลงเรื่อยๆ แล้ววันนึงก็มีจดหมายจากเซ็นเซย์ส่งมา เขารีบขึ้นรถไฟบึ่งไปหาเซ็นเซย์ทันที
บทที่สามเป็นจดหมายจากเซ็นเซย์ถึงข้าพเจ้า เล่าเรื่องราวปมในอดีตของเขาที่อยากให้ใครสักคนรับรู้เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง เซ็นเซย์ในวัยเด็กโดนอาของตัวเองที่ไว้เนื้อเชื่อใจโกงมรดกทรัพย์สินจนหมดความไว้ใจในมนุษย์ เซ็นเซย์ไปพักอยู่ที่บ้านเช่าหลังนึงและได้รู้จักกับ “คุณหนู” จนหลงรัก ระหว่างนั้นเซ็นเซย์ชวน K เพื่อนของเขาที่กำลังเดือดร้อนมาอยู่ที่บ้านเช่าด้วยกัน K ก็เริ่มหลงรักคุณหนู ด้วยความกังวลใจและหวั่นไหว เซ็นเซย์จึงขอคุณหนูแต่งงาน พอ K รู้เข้าก็นิ่งเงียบ คืนนึงเซ็นเซย์ตื่นขึ้นมาก็พบว่า K ได้ฆ่าตัวตายไปแล้ว เซ็นเซย์แต่งงานกับคุณหนูโดยปิดบังเรื่องราวไว้ ตลอดเวลาเขาอยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน และคิดว่าทางออกของเรื่องราวนั้นมีทางเดียว คืออย่างไรเขาก็ต้องตาย และก่อนตายเขาก็ได้เขียนจดหมายฉบับนี้
สิ่งที่ทำให้รู้สึกประหลาดใจมากที่สุดในการอ่านโคโคโระคือหนังสือเล่มนี้เขียนมา 100 ปีแล้ว (ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) และยังถูกใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของชั้น ม.ปลาย มาหลายสิบปีอีกด้วย วิธีการเขียนและการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ดูสมัยใหม่มาก ไม่มีความรู้สึกว่าเชยอยู่เลย ถ้าเติมโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรื่องก็เปลี่ยนฉากเป็นปัจุบันได้ทันที วิธีคืดของตัวละครก็ดูสมัยใหม่ เสียดสีแนวคิดหัวโบราณ (ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือโบราณ?) เนื้อหาดำดิ่งสู่การค้นหาภายในจิตใจ วนเวียนอยู่กับเรื่องความตายและจิตใจ (และเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา…) อ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนค้นพบจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมและแนวคิดญี่ปุ่นขึ้นมาเลย
e561-kokoro
ในบทแรกผมอ่านด้วยความรู้สึกที่ว่า “ภรรยาของเซ็นเซย์สวยมาก” จนคิดว่า “ข้าพเจ้า” อาจจะเล็งตีท้ายครัวเซ็นเซย์อยู่ จากที่ไม่ค่อยสนิทกัน ก็ค่อยสนิทจนคุยเล่นกันได้ ในช่วงแรกของบทที่ “ข้าพเจ้า” ไปว่ายน้ำและได้พบกับเซ็นเซย์ เป็นอะไรที่เกย์มาก ชายหนุ่มคนนึงพยายามจะดักเจอชายหนุ่มที่อายุมากกว่าอีกคนที่ริ่มทะเล ความประทับใจในตัว “ข้าพเจ้า” ที่มีต่อเซ็นเซย์นั้นดูแรงกล้าและมีความปรารถนาอย่างเห็นได้ชัด มีฉากหึงหวงออกหน้าออกตาหลายฉาก ฉากนึงที่ “ข้าพเจ้า” คุยกับภรรยาของเซ็นเซย์ ทั้งคู่พูดถึงเซ็นเซย์ด้วยความรัก ฉากนั้นทั้งคู่ดูเหมือนชายและหญิงสองคนที่รักผู้ชายคนเดียวกันจนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าวันนึงไม่มีผู้ชายคนนั้นแล้ว ทั้งสองคงต้องหันมาพึ่งพากันและกัน
บทที่สองเป็นเรื่องของพ่อที่ป่วย บทนี้ผมค่อนข้างเฉยๆ แต่ก็รู้สึกว่าแนวคิดต่างๆ ในปัจุบันก็แทบไม่ต่างจากร้อยปีก่อนเลย พ่อแม่อยากให้ลูกมั่นคง ลูกมองว่าปริญญาเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียวแต่ในมุมมองของพ่อแม่นั้นแตกต่างกัน การเอาหน้าทางสังคม อารมณ์เหม็นเบื่อของลูกชายปัญญาชนที่มีต่อพ่อแม่ มีฉากที่พ่ออ่านข่าวองค์จักรพรรดิ์สวรรคตแล้วโวยวาย แต่ข้าพเจ้ากลับเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร (เขียนเมื่อ 100 ปีก่อน…)
บทที่สามเป็นจดหมายของเซ็นเซย์ หลายๆ คนบอกว่าความสัมพันธ์ของเซ็นเซย์กับ K นั้นเกย์มาก แต่ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าเกย์เท่าไหร่ มีกลิ่นนิดๆ แต่ไม่แรงเท่าบทแรก การบรรยายภาพที่หมกมุ่นในสมองมองออกเป็นตัวอักษรนั้นทำออกมาได้อย่างลุ่มลึกและกดดัน K เป็นตัวละครที่ล้ำสมัยมาก เป็นลูกชายพระแต่ไม่อยากรับช่วง ศึกษาศาสนาคริสต์และอ่านคำภีร์ของมุสลิม โกหกครอบครัวมาเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ในบทนี้จะมีตัวละครหญิงที่เรียกว่า “คุณหนู” ด้วยอิทธิพลของสื่อต่างๆ ดังนั้นภาพ “คุณหนู” ในหัวผมมันจะออกแปลกๆ หน่อย คุณหนูจะขี้อายผมยาวผมหยิกเป็นลอนฟูฟ่อง น่ารักน่าทนุถนอม แม้จะขัดกับยุคสมัย แต่อิมเมจนี้ก็ช่วยเพิ่มความโมเอ้ได้เป็นอย่างดี เซ็นเซย์ กับ K ในอิมเมจของผมเหมือนในเรื่อง Sakamichi no Apolon (ซึ่งจริงๆ Sakamichi no Apolon คงได้รับอิทธิพลจากโคโคโระต่างหาก) บทนี้มีความอึดอัดมาก…อ่านแล้วเหนื่อย แต่ก็ตลกดีที่เซ็นเซย์เขียนจดหมายทิ้งท้ายได้ยาวเป็นเล่มๆ เหมือนกัน
ฉบับที่ผมอ่านนั้นเป็นฉบับพิมพ์เมื่อ 20 ปีก่อน แปลโดยดร.ปรียา อิงคาภิรมย์ (ซึ่งดูเหมือนว่าฉบับพิมพ์ใหม่ก็ยังใช้เวอร์ชั่นนี้) จากนี้ไปถ้าเห็นวรรณกรรมคลาสสิคญี่ปุ่นเล่มอื่นๆ ก็จะลองหามาอ่านหน่อยละกัน
ปล. รูปประกอบไม่ใช่เล่มที่อ่าน เอามาใส่เพราะเห็นว่าสวยดี…

2 thoughts on “561 | Kokoro”

  1. http://bookmoby.com/shop/recommended/-1528
    พี่อ่านคินดะอิจิซีรีส์ยัง นั่นก็จดหมายเหตุแบบยี่ปุ๊นญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลก สมัยแจ๊สครองเมือง จนถึงสมัยใหม่เลย

  2. คินดะอิจิไม่เคยอ่านเลย ไม่ค่อยชอบอ่านนิยายสืบสวนแบบโต้งๆ
    ดาไซโอซามุก็เล็งๆอยู่

Leave a Reply to RH Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *