653 | นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ

โดยปกติแล้วผมก็อ่านนิยายญี่ปุ่นหลายเรื่อง และแน่นอนว่าก็ต้องเคยผ่านนิยายของ มุราคามิ ฮารุกิ มาบ้าง แม้ว่าหลังๆ จะไม่ค่อยได้ตามเพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่ก็ชื่นชมในรูปแบบงานเขียนที่มีเอกลักษณ์ของมุราคามิ แล้ววันนึงคุยกะเพื่อน เพื่อนมันอ่านเล่มนี้แล้วมันบอกว่านึกถึงผม ก็เลยต้องไปหามาอ่านซะหน่อย…ถึงจะใช้เวลาหาอยู่เกือบ 1 ปีก็ตาม

เนื้อหาในเล่ม ครึ่งแรกเป็นการเล่าให้ฟังถึงชีวิตเขาว่ากว่าจะได้เป็นนักเขียนนั้นผ่านอะไรมามั่ง และครึ่งหลังจะพูดถึงแนวคิดต่องานวรรณกรรมและวงการของเขา มุราคามิสมัยเรียนก็เป็นเด็กชอบอ่านหนังสือคนนึง ผลการเรียนปานกลาง อ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษตั้งแต่ ม.ปลาย แต่เจ้าตัวบอกว่ามันไม่ได้ช่วยให้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเลย พอจบ ม.ปลาย ก็แต่งงานแล้วเปิดบาร์ จากนั้นค่อยไปเรียนมหาลัย ลำดับมันก็จะพิลึกๆ หน่อย และหลังจากนั้นวันนึงเขาก็รู้ว่าต้องเขียนอะไรบางอย่าง พอเขียนเสร็จประกวดแล้วก็ลืมมันไปซะ รู้ตัวอีกทีก็ได้รางวัลนักเขียนหน้าใหม่ หลังจากนั้นเขารู้สึกเหมือนได้รับอะไรบางอย่าง และตัดสินจะเป็นนักเขียนนิยายอาชีพทันที
เรื่องวิธีการทำงาน แนวคิด หรืออะไรพวกนี้ วิธีจะค่อนข้างนอกขนบพอสมควร ถ้าสนใจก็ไปอ่านดูละกัน ขี้เกียจสรุป (เย้) เรื่องที่สนใจก็มีเช่น สำนวนแปลกๆ ของเขานั้นเริ่มแรกใช้วิธีเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลกลับเป็นภาษาญี่ปุ่น, มุราคามิมีเมียคนเดียวและไม่มีลูก, เป็นคนชอบออกกำลังกายและใช้ชีวิตมีระเบียบ, ชอบเพลงแจ๊สจริงๆ นั่นแหละ ฯลฯ เท่าที่อ่าน สิ่งที่รู้สึกก็คือ มุราคามิ ฮารุกิ ภูมิใจที่ตนเองเป็นนักเขียนนิยายอาชีพ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเขียนนิยาย มาตลอดชีวิต 35 ปีที่ผ่านมา (และยังคงเป็นต่อไป) เขารู้สึกเหนือกว่า (ไม่ถึงกับดูแคลน) นักเขียนหลายๆ คนที่มาจากวงการอื่น เขียนหนังสือโด่งดังไม่กี่เล่มก็แบตหมดเลิกราไป เพราะความฮิปสเตอร์ของมุราคามิ ทำให้เขาต้องผ่านอะไรมาหลายอย่าง โดนด่ามากมาย เป็นศัตรูกับสำนักพิมพ์และระบบรางวัล ถึงจะบอกว่าเขาไม่สนใจ แต่เชื่อว่ามันกัดกร่อนจิตใจไปไม่น้อย สิ่งที่เขายึดเหนี่ยวก็คือ “ความเป็นนักเขียน” ที่ทำให้เขายืนยัดอยู่ได้ และเขาก็ได้พิสูจน์อะไรหลายอย่างจนคนมากมายทั่วโลกยอมรับ
ในหนังสือ มุราคามิ จะย้ำหลายครั้งว่าวิธีที่เขาทำและสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็รู้สึกได้ว่าเขาภูมิใจในวิธีที่ไม่ถูกต้องและสิ่งที่ไม่ถูกต้องของเขามาก นักเขียนนิยายเองมีหลายประเภท และจากที่เพิ่งอ่านโชโจฟุจูบุนไป(แต่เวอร์ชั่นมังงะนะ) นิชิโอะ อิชิน เองก็เป็นนักเขียนแตกต่างกับมุราคามิอย่างมาก มุราคามิ ค่อยๆ ละเลียดถ่ายทอดเรื่องราว ย้ำซ้ำอารมณ์และทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ นิชิโอะ เป็นเหมือนเครื่องจักร เขียนนิยายเดือนละ 1 เล่ม หรือมากกว่านั้น (ที่ความยาว 300 หน้า) อัดแน่นไปด้วยตัวอักษร มุราคามิมีความลำบากใจมากในการตั้งชื่อให้ตัวละคร แต่นิชิโอะมีชื่อมากมายให้ตัวละครนับไม่ถ้วน นักเขียนมีหลายประเภท บางครั้งคนก็ติดภาพนักเขียนจะต้องกัดกร่อนตัวเองเพื่อสร้างผลงาน และวาดภาพฝันอันโรแมนติค แต่ที่จริงแล้วนักเขียนก็แค่คนคนนึง และคุณค่าของผลงานนั้นก็ขึ้นอยู่ฝ่ายที่อ่านด้วย
แม้ว่ามุราคามิ(หรือนพดลวะ 555)จะเป็นสัญลักษณ์ของเด็กมหาลัยวัยฮิปสเตอร์อยู่หลายปี แต่พอได้อ่านเล่มนี้จนเห็นมุมมองอื่นๆ ของเขา ก็ทำให้รู้ว่า มุราคามิ ในบางมุมก็เป็นแค่ลุงแก่ๆ หัวโบราณขี้บ่นคนนึงนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างจากลุงหัวโล้นที่นั่งกินเหล้าอยู่ปากซอยหรอก… อ้อ ต่างหน่อยนึงตรงที่เป็นลุงที่ชอบออกกำลังกาย
เรื่องแปลกก็คือนิยายเล่มนี้มีการใช้ฟุริคานะกับภาษาไทยด้วย (ตัวหนังสือเล็กๆ อยู่เหนือตัวหนังสือปกติเพื่ออธิบายความหมาย) อ่านนิยายแปลจากภาษาญี่ปุ่นมามากก็เพิ่งจะเคยเจอเป็นครั้งแรก ตอนแรกอ่านไปครึ่งเล่มก็เกือบจะเลิกอ่านแล้ว เป็นอย่างนี้กับหนังสือของมุราคามิหลายเล่ม อ่านไปครึ่งนึงแล้วรู้สึกว่ามันจบแล้ว ไม่อยากอ่านต่อ แต่ก็อ่านต่อจนจบได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *